จ่าย 36 ล้านดอลลาร์นายหน้าบินไทย

"โรลส์-รอยซ์" ยอมรับจ่ายสินบนให้นายหน้าการบินไทยกว่า 36 ล้านดอลลาร์ ช่วยจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนท์” "จรัมพร" สั่งสอบใน 30 วัน

สำนักข่าวชื่อดังของโลกทั้งบีบีซี การ์เดียนและรอยเตอร์ รายงานอ้างแถลงจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงของอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ระบุว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากอังกฤษ ยอมจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล 

บีบีซี รายงานว่า เอสเอฟโอ ตรวจสอบพบการติดสินบนของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนและอินโดนีเซีย ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน จากนั้นจึงตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์ ละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการติดสินบนและคอร์รัปชันในหลายประเทศ 

ขณะที่ กระทรวงยุติธรรมยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543-2556 ทั้งในคาซัคสถาน, บราซิล, อาเซอร์ไบจาน, แองโกลา, อิรัก และไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 35 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ 

รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ในส่วนของการติดสินบนในประเทศไทย ไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องดังกล่าว และไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวออกมา 

แต่สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่ากรณีติดสินบนในประเทศไทย โรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินจำนวน 18.8 ล้านดอลลาร์ แก่ตัวแทนระดับภูมิภาค ซึ่งหมายถึงบริษัทท้องถิ่นที่ดูแลการขาย กระจายสินค้าและการบำรุงรักษาในหลายประเทศ ที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดูแล เพื่อแลกกับการทำสัญญาซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่นที 800 ของบริษัทการบินไทย 

จ่าย36ล้านดอลล์นายหน้าบินไทย 

ขณะที่หนังสือพิมพ์การ์เดียน รายงานข่าวเรื่องนี้โดยระบุว่าในส่วนของประเทศไทยนั้น โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินกว่า 36 ล้านดอลลาร์ (1,270 ล้านบาท) ระหว่างปี2534-2548 ให้กับนายหน้า เพื่อช่วยเหลือเรื่องสัญญา 3 ฉบับในการจัดหาเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนท์” ให้กับบริษัทการบินไทย 

ด้านเจ้าหน้าที่เอสเอฟโอ ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า เงินสินบนบางส่วนจ่ายให้เป็นรายบุคคล มีทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์-รอยซ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ ที800 ของบริษัทแห่งหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม โรลส์-รอยซ์ ยินดีที่จะจ่ายเงินรวมกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล โดยจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอฟโอ เป็นเงิน 617 ล้านดอลลาร์ รวมกับดอกเบี้ยตลอดช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา 

จ่าย170ล้านดอลล์แลกยอมความ 

นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ ยังตกลงยอมความกับสหรัฐ โดยจะจ่ายเงินให้แก่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเป็นเงิน 170 ล้านดอลลาร์ ส่วนบราซิล จะเป็นการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานคดีอาญาแห่งรัฐ เป็นเงินทั้งสิ้น 25.6 ล้านดอลลาร์ 

หลังจากบรรลุข้อตกลงยอมความแล้ว นายวอร์เรน อีสต์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโรลส์-รอยซ์ ได้ออกแถลงการณ์ ขอโทษเรื่องการติดสินบนของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ารับไม่ได้ พร้อมทั้งระบุว่า หลังเกิดเหตุ บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆและได้ยกเลิกการใช้ตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี 

ทั้งนี้ การประนีประนอมยอมความกันได้ทำให้จะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อโรลส์-รอยซ์ และทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

ด้านนายเดวิด กรีน ผู้อำนวยการของเอสเอฟโอ กล่าวว่า การทำข้อตกลงประนีประนอมยอมความครั้งนี้ เปิดทางให้โรลส์รอยซ์มีแนวทางดำเนินการใน 7 ประเทศ ครอบคลุม 3 สาขาธุรกิจของบริษัท คือเครื่องบินพลเรือน อากาศยานทหาร และระบบพลังงาน 

ขณะที่ นายไบรอัน ลีเวสสัน ผู้พิพากษาศาลฎีกาของอังกฤษ เป็นผู้อนุมัติข้อตกลงยุติการดำเนินคดีบริษัทโรลส์รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินในประเทศอังกฤษ กรณีโรลส์รอยซ์จ่ายสินบนเพื่อให้ได้ขายเครื่องยนต์อากาศยานในอังกฤษ สหรัฐ และบราซิล 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ สัญชาติอังกฤษ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับรถยนต์โรลส์รอยซ์ ซึ่งบริษัทบีเอ็มดับเบิลยู ของเยอรมันเป็นเจ้าของ 

ตั้งกรรมการสอบสินบน30วัน 

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบินไทย วานนี้ (18 ม.ค.) ว่า บอร์ดการบินไทยมีมติให้ตั้งคณะกรรมการหาข้อมูลกรณีที่บริษัท โรลส์รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทยระหว่างปี2534-2548 ในเบื้องต้นจะใช้เวลาสอบสวน 30 วัน และสามารถขยายได้ถึง 60 วันหรือ 90 วัน จากนั้นจะนำข้อมูลมาตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อได้รับข้อเท็จจริง 

“การบินไทยจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องทุจริตครั้งนี้โดยเร็ว เพื่อดำรงเจตนารมณ์ในด้านความโปร่งใสไว้ตลอดไป” 

นายจรัมพร กล่าวว่าหากพบว่าประเด็นดังกล่าวมีมูลจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบต่อไปและยืนยันว่า ถ้าถึงผู้กระทำผิดเกษียณอายุไปแล้วก็ยังสามารถเอาผิดได้ 

เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจในเดือนมิ.ย.นี้ 

สำหรับยุทธศาสตร์องค์กรในปี 2560 การบินไทยจะดำเนินแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 ต่อเนื่องอีก 6 เดือนและจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูระยะที่ 3 โดยปีนี้มีแผนจะรับเครื่องบินใหม่จำนวน 7 ลำ แบ่งเป็น จัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 350 จำนวน 2 ลำ และเช่าอีก 3 ลำ นอกจากนี้จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 จำนวน 2 ลำ โดยจะทดแทนเครื่องบินเก่า 7 ลำ ที่จะปลดระวางและส่งผลให้ฝูงเครื่องบินของการบินไทยอยู่ที่ 94 ลำเท่าเดิม 

นอกจากนี้ มีแผนจะลดส่วนของครัวการบินไทย โดยเตรียมหาผู้ร่วมทุนมาดำเนินการด้วย และจะปรับโครงสร้างฝ่ายบริการภาคพื้นดิน สนามบิน และเครื่องบินให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. นี้ จากนั้นจะหาผู้เข้าร่วมทุนด้วย 

ปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายจะมีอัตราการบรรทุก 80% สูงกว่าปี 2559 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 77.8% และในช่วง 11 วันแรกของเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นไฮท์ซีซั่นมีอัตราบรรทุกเฉลี่ยแล้วอยู่ 86% ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มการจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มจาก 15%เมื่อปีก่อนเป็น 21% และคาดว่าปลายปีนี้จะอยู่ที่ 30% 

รอสคร.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครดีดี 

นายจรัมพร กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมบอร์ด ยังมีการรายงานความคืบหน้าการสรรหาดีดีคนใหม่ เพื่อแทนนายจรัมพรที่กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 9 ก.พ. โดยขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่า ผู้สมัครทั้ง 9 รายผ่านคุณสมบัติหรือไม่ เพราะต้องรอผลการตรวจสอบคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นหน่วยงานสุดท้าย 

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าคณะกรรมการสรรหาดีดี การบินไทยรายงานว่า สคร. จะสรุปเรื่องคุณสมบัติส่งให้การบินไทยประมาณ 1 สัปดาห์ข้างหน้า โดยหลังจากนั้นจะคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติตามขั้นตอนต่อไปและบอร์ดจะเร่งประชุมเพื่อให้ทันช่วงที่นายจรัมพรเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม หากสรรหาดีดีคนใหม่ไม่ทันก็ต้องมีกลไกการตั้งรักษาการขึ้นมาดูแลตามปกติ 

เปิดรายชื่อบอร์ดตั้งแต่ปี 2531 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งดีดีการบินไทยและเป็นประธานบอร์ดการบินไทยในช่วงเวลาปี 2531-ปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้คือ นายวีระ กิจจาทร เป็นดีดีการบินไทยปี2531-2535พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด (ปี2531-2532 ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ปี2532-2535พล.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ.เป็นประธานบอร์ด ส่วนปี2535-2536 นายฉัตรชัย บุญญะอนันต์ เป็นดีดีการบินไทย ขณะที่พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ผบ.ทอ.เป็น ประธานบอร์ด 

สำหรับปี2536-2543นายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นดีดีการบินไทย พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยตั้งแต่ปี2536-2539 หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ โดยมีการแต่งตั้งนายมหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคมมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย ช่วงระหว่างธ.ค.2539-พ.ย. 2543จากนั้นปี2543-2544นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ เป็นดีดีการบินไทย แต่รัฐบาลสมัยนั้นแต่งตั้งนายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานบอร์ดการบินไทย ( พ.ย.2543-เม.ย.2544) และรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนประธานบอร์ดใหม่โดยแต่งตั้งนายชัยอนันต์ สมุทวณิช (พ.ค.2544-ก.ย.2544) และต่อจากนั้นได้เปลี่ยนคณะกรรมการใหม่ทั้งชุดได้แต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานบอร์ดการบินไทย (ต.ค.2544-พ.ค.2545 ) แต่ได้สรรหาดีดีใหม่เป็นนายนายกนก อภิรดี ปี2545-2549 

ขณะเดียวกัน ในเดือนมิ.ย. 2545-มี.ค.2548 ได้ปรับเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดใหม่เป็นนายทนง พิทยะ หลังจากนั้นในปีเดียวกันได้เปลี่ยนประธานบอร์ดอีกรอบเป็นนายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม (มี.ค.2548-พ.ย.2549) 

ทั้งนี้ในยุคพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้งพล.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ดการบินไทย (พ.ย.49- พ.ย.51) โดยมี ร.อ.อภินันท์ สุมนะเศรณี นั่งเก้าอี้ดีดีการบินไทย ปี 2549-2552 หลังจากนั้นได้เปลี่ยนตัวประธานบอร์ดใหม่เป็นนายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม (19 พ.ย.2551-มี.ค.2552) และปี2552-2555 มีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นดีดีการบินไทย จากนั้นมีการเปลี่ยนประธานบอร์ดเป็นนายอำพล กิตติอำพน (เม.ย.2552- มิ.ย. 57 ) 

ขณะที่ ดีดีการบินไทยเปลี่ยนเป็น นายสรจักร เกษมสุวรรณ ช่วง2555-2557และได้เปลี่ยนตัวประธานบอร์ใหม่กลางปี 2557 เป็นพล.อ.ประจิน จั่นตอง และ ปี2557-ปัจจุบัน นายจรัมพร โชติกเสถียร เป็นดีดีการบินไทย และมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มเป็นประธานบอร์ดการบินไทย(ช่วงปี 2558-ปัจจุบัน)

PENTOR EXCHANGE CO., LTD

ร้าน เป็นต่อเอ็กซ์เช้นจ์ สาขา เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ชั้น 4 (หลังธนาคารกสิกรไทย)
เวลาทำการ: จันทร์ - อาทิตย์ เวลา 11.30 น. ถึง 19.00 น.
โทร: 091-096-4444, 091-097-4444
E-mail: pentorexchange@gmail.com

Line : @pentorexchange

ร้าน เป็นต่อเอ็กซ์เช้นจ์ สาขา คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC)

ศูนย์การค้าคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) ถนนเลียบทางด่วน เอกมัย – รามอินทรา (หน้าธนาคารกสิกรไทย)
เวลาทำการ เวลาทำการ: จันทร์ - อาทิตย์ เวลา 11.30 น. ถึง 19.00 น.
โทร: 091-091-7444
E-mail: pentorexchange2@gmail.com

Line : @pentorexchange

อัตราแลกเปลี่ยนเงิน

สกุลเงินซื้อขาย
USD
United States
36.78 36.93
GBP
United Kingdom
45.84 46.15
EUR
European Union
39.29 39.50
JPY
Japan
0.234 0.2365
MYR
Malaysia
7.68 7.73
SGD
Singapore
26.75 27.20
CNY
China
5.03 5.08

ราคาทองคำ

ราคาทองคำ

ทองคำแท่ง
รับซื้อ (บาท)
40,850.00
ขายออก (บาท)
40,950.00
ทองคำรูปพรรณ
รับซื้อ (บาท)
40,113.36
ขายออก (บาท)
41,450.00